top of page

Event Sustainability Management (4) – องค์กรไหนสามารถขอรับรองมาตรฐานนี้ได้บ้าง

กิตติพัทธ์ จิรวัสวงศ์

หากจะแบ่งประเภทขององค์กรที่สามารถนำมาตรฐานนี้มาประยุกต์ใช้ รวมไปถึงขอการรับรองมาตรฐานนี้ได้ด้วย จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มประกอบด้วย

  • เจ้าของงาน Event หรือผู้สนับสนุนการจัดงาน (Sponsor)

  • การจัดงาน Event

  • ผู้จัดงาน (Organizer)

  • สถานที่จัดงาน (Venue)

  • ผู้รับจ้างช่วง (Supplier)

1. เจ้าของงาน Event หรือผู้สนับสนุนการจัดงาน

องค์กรที่เป็นเจ้าของงานที่กำลังจะจัด โดยอาจจะเป็นการจ้างหน่วยงานอื่นมาดำเนินการให้ ซึ่งจะสามารถดำเนินงานระบบบริหารการจัดงาน Event อย่างยั่งยืน ตั้งแต่การวางแผนการจัดงาน และการบริหารจัดการ รวมถึงการใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกหน่วยงานที่จะมาจัดงานให้ด้วย

2. การจัดงาน Event

จะเป็นการนำระบบการบริหารจัดงาน Event อย่างยั่งยืนมาใช้กับการจัดงานแต่ละงานไป และเป็นการรับรองเฉพาะงานนั้นๆ เช่น การรับรองการจัดงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ลอนดอน ปี 2012 การจัดงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่ประเทศบราซิลในปี 2016 หรือการจัดแข่งฟุตบอลโลกที่ ริโอ เดอ จาเนโรที่บราซิลในปี 2014 การจัดฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปปี 2016 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส รวมไปถึงที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลกที่รัสเซียในปี 2018 และมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมือง PyeongChang ประเทศเกาหลีใต้ในปี 2018

นอกจากมหกรรมกีฬาแล้ว ยังมีอีกหลากหลายงานที่ได้รับการรับรอง เช่น งาน Sydney Festival ที่ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเทศกาลด้านศิลปะที่หลากหลาย มีการจัดทุกปีในช่วงมกราคม งานดนตรี Eurovision ที่สวีเดน เมื่อปี 2013 หรือการจัดงานประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (Conference of Parties21 – COP21)

Olympic London 2012

การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (Conference of Parties 21 – COP21)

Sydney Festival

3. ผู้จัดงาน หรือ Organizer

จะหมายถึงองค์กรที่รับผิดชอบในการจัดงานให้เกิดขึ้น โดยเป็นการรับจ้างจากเจ้าของงานอีกที การดำเนินงานในการจัดงาน การนำมาตรฐานมาใช้ รวมถึงการรับรอง จะคำนึงถึงการบริหารจัดการในองค์กรที่สอดคล้องตามเกณฑ์ ไม่ว่าองค์กรนั้นจะไปรับงานแบบไหน หรือขนาดไหน เป็นการรับรองที่องค์กรจัดงาน ไม่ใช่ที่งาน เช่น หน่วยงาน Japan Convention Services (JVS) ของญี่ปุ่น

Japan Convention Service (JCS)

4. สถานที่จัดงาน (Venue)

จะเป็นการจัดทำระบบ และการรับรองที่สถานที่ที่ใช้การจัดงาน ไม่ว่าจะมีงาน Event อะไรเกิดขึ้นในสถานที่แห่งนี้ จะเป็นการดำเนินการโดยคำนึงถึงการจัดการอย่างยั่งยืนด้วย เช่น สนามกีฬา โรงแรม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า และอื่นๆ ตัวอย่างเช่น สนาม Old Trafford ของสโมสรฟุตบอล Manchester United หรือสนาม สนาม Roland-Garros ของ France ที่ใช้ในการแข่งขันเทนนิส France Open

สนาม Old Trafford ของสโมสรฟุตบอล Manchester United

สนาม Roland-Garros ของ France

ในส่วนของโรงแรม หรือศูนย์ประชุม ในประเทศไทย เช่น โรงแรมพลาซ่า แอทธินี และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ส่วนในต่างประเทศที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น Marina Bay Sands ของสิงคโปร์ The Venetian ของมาเก๊า Hong Kong Convention and Exhibition Centre (HKCEC) ของฮ่องกง Swedish Exhibition & Congress Centre and Gothia ของสวีเดน

Plaza Athenee Bangkok – A Royal Meridien

Marina Bay Sands Singapore

The Venetian Macao

5. ผู้รับจ้างช่วง (Supplier)

จะเป็นหน่วยงานที่รับจ้างช่วงเฉพาะเรื่องในการจัดงาน เช่น จัดหาแรงงาน จัดหาอุปกรณ์ รักษาความปลอดภัย โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์แสงเสียง ที่จอดรถ และอื่นๆ เช่น Metro Broadcast London ของอังกฤษ ได้รับการรับรองในงานด้านการบริการ Audio visual, Event และ Broadcast

จะเห็นได้ว่าองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน Event ไม่ว่าจะในฐานะอะไร ก็สามารถช่วยทำให้การจัดงานสอดคล้องกับแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ขึ้นอยู่กับบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นๆ ช่วยๆ กันครับ ทุกครั้งที่จัดงาน ไม่ว่าจะอยู่ฐานะอะไร ลองถามดูว่าเราจะช่วยโลกนี้ได้อย่างไร ไม่ให้การจัดงานมีความสุขแค่คืนเดียว แต่สร้างภาระมากมายให้กับอนาคต

RECENT POST
bottom of page