top of page
กิตติพัทธ์ จิรวัสวงศ์

PMQA ระดับพื้นฐาน (FL) ฉบับที่ 2 ตอนที่ 5


ข้อกำหนด

อย่างที่ได้เล่าให้ฟังไปก่อนหน้าแล้วว่าในปัจจุบันมี เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ออกมา 2 ฉบับ ซึ่งทั้งสองฉบับก็เกี่ยวเนื่องกัน โดยฉบับแรกจะเป็น เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ฉบับปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นฉบับหลักที่ระบุถึงเกณฑ์ PMQA ทั้งหมด รวมถึงเป็นเกณฑ์สำหรับส่วนราชการที่ต้องการขอสมัครรับรางวัลรายหมวด และรางวัลดีเด่นที่จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ในเล่มนี้

ส่วนอีกเล่มหนึ่ง จะเรียกว่า เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ระดับพื้นฐาน ฉบับที่ 2 (PMQA – FL) ซึ่งเป็นฉบับที่โดยเนื้อหาเกณฑ์จะมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับฉบับเต็ม ซึ่งเกณฑ์ PMQA – FL นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จัดทำขึ้นสำหรับส่วนราชการที่ต้องการพัฒนาองค์การ แต่อาจจะยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการตามเกณฑ์ฉบับสมบูรณ์ได้ จึงได้ย่อส่วนเนื้อหาของเกณฑ์ลงมาให้สามารถปฏิบัติได้ และเมื่อพร้อมก็สามารถยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการไปยังเกณฑ์ PMQA ฉบับสมบูรณ์ต่อไป

นอกจากนั้น ส่วนราชการต่างๆ จะได้รับการประเมินจากสำนักงาน ก.พ.ร. ตามเกณฑ์ PMQA – FL นี้ โดยส่วนราชการที่ผ่านการประเมิน ก็จะได้รับหลักฐานการรับรองจากทางสำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการตรวจประเมินทุกๆ 3 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าส่วนราชการได้มีการรักษาระบบการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิผลได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับในช่วงนี้ หน่วยงานราชการหลายๆ แห่งอยู่ในช่วงการเตรียมตัวเพื่อรับการประเมินอีกครั้งในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ปี 2560 (มีบางหน่วยงานได้รับการตรวจประเมินไปแล้วเมื่อปี 2559 รวมถึงหน่วยงานที่ได้รับรางวัลรายหมวด และรางวัลดีเด่น ก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกประเมินระดับ PMQA – FL ด้วย)

ดังนั้น ในการอธิบายเกณฑ์ PMQA นี้ ขอเล่าสู่กันฟังในส่วนของ PMQA ระดับพื้นฐาน (FL) นี้ก่อน เพื่อให้หน่วยงานส่วนใหญ่ที่จะถูกตรวจได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

สำหรับเนื้อหาของ PMQA – FL จะแบ่งเกณฑ์ออกเป็น 7 หมวดเหมือนกันกับเกณฑ์ฉบับสมบูรณ์ โดยในหมวด 1 ถึงหมวด 6 ซึ่งเป็นหมวดเกี่ยวกับกระบวนการ ส่วนหมวด 7 ก็เป็นเรื่องผลลัพธ์เช่นเดียวกัน ในแต่ละหมวดของกระบวนการ จะมีแบ่งหัวข้อที่แตกต่างกันจากเกณฑ์ฉบับสมบูรณ์ โดยในฉบับพื้นฐานจะมีการกำหนดรหัสออกเป็น

  • หมวด 1 การนำองค์การ ใช้รหัส LD มีทั้งหมด 5 ข้อ

  • หมวด 2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ ใช้รหัส SP มีทั้งหมด 4 ข้อ

  • หมวด 3 การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ใช้รหัส CS มีทั้งหมด 5 ข้อ

  • หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ ใช้รหัส IT มีทั้งหมด 4 ข้อ

  • หมวด 5 การมุ่งเน้นบุคลากร ใช้รหัส HR มีทั้งหมด 4 ข้อ

  • หมวด 6 การมุ่งเน้นระบบการปฏิบัติการ ใช้รหัส PM มีทั้งหมด 5 ข้อ

ในแต่ละข้อของแต่ละหมวด ก็จะมี “ประเด็นพิจารณา” ที่จะระบุสิ่งที่ส่วนราชการจะต้องทำ ซึ่งในประเด็นพิจารณาทั้งหมด จะแบ่งออกเป็น 5 ประเภทด้วย โดยแต่ละประเด็นก็จะมีรายละเอียดของประเด็นที่จะต้องทำแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นส่วนราชการจะต้องทำความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ก่อน ไม่อย่างนั้น อาจจะสับสนหรือดำเนินการไม่สอดคล้องกับสิ่งที่จะต้องทำก็ได้ โดยทั้ง 5 ประเภท ประกอบด้วย

Approach (A) หมายถึงส่วนราชการมีแนวทางอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิผล ในการดำเนินการตามเกณฑ์นั้นๆ คำว่า เป็นระบบจะหมายถึงมีเป้าหมายในการดำเนินการอย่างชัดเจน และสามารถประเมินความสำเร็จได้ โดยมีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน มีผู้รับผิดชอบ ทรัพยากรที่จะใช้ และกรอบเวลาดำเนินการอย่างชัดเจนด้วย

Deployment (D) หมายถึง ส่วนราชการมีการนำแนวทางที่ได้วางแผนไว้ ไปสู่การปฏิบัติอย่างครอบคลุมทั่วถึงในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีการนำไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผลการดำเนินงานตามที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง

Learning (L) หมายถึง ส่วนราชการมีการติดตาม ประเมินผลของการดำเนินงานว่าได้ผลลัพธ์หรือบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการหรือไม่ อย่างไร รวมถึงมีการปรับปรุงแนวทางในการดำเนินการที่ได้วางไว้อย่างไรบ้าง

Integration (R) หมายถึง การดำเนินการของส่วนราชการที่ได้วางแผน และนำไปสู่การปฏิบัตินี้ มีความสำคัญและสอดคล้องกับความต้องการของส่วนราชการตามที่ระบุไว้ในลักษณะสำคัญองค์การ รวมถึงความต้องการของข้อกำหนดหรือการดำเนินการในหมวดต่างๆ มีการเชื่อมโยงของสิ่งที่ได้ หรือผลลัพธ์ของการดำเนินการไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในกระบวนการอื่นๆ

Early Result (I) หมายถึง การวัดผลลัพธ์ของการดำเนินการที่เกิดขึ้น ว่าเป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่

พอจะเข้าใจบ้างนะครับ ว่าโครงสร้างและรูปแบบของเกณฑ์ PMQA ระดับพื้นฐาน (FL) เป็นอย่างไรบ้าง ถ้าพร้อมแล้ว ในตอนต่อไปจะเริ่มต้นที่หมวด 1 ในรหัส LD 1 เลยครับ

RECENT POST
bottom of page