top of page

PMQA ระดับพื้นฐาน (FL) ฉบับที่ 2 ตอนที่ 12 (จบ)

กิตติพัทธ์ จิรวัสวงศ์

หมวด 7 ผลลัพธ์

ในหมวด 7 จะเป็นหมวดที่สำคัญอย่างมาก เพราะเป็นหมวดที่จะต้องแสดงผลลัพธ์ของการดำเนินงานของส่วนราชการในด้านต่างๆ ที่สอดคล้องกันกับการดำเนินงานในหมวดต่างๆ ตั้งแต่หมวด 1 ถึงหมวด 6 โดยในเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ระดับพื้นฐาน ฉบับที่ 2 นี้ จะมีการกำหนดตัววัดผลการดำเนินงานที่ส่วนราชการจะต้องดำเนินการวัดไว้ทั้งหมด 10 ตัววัด ประกอบด้วย

7.1 ผลลัพธ์ด้านประสิทธิผลและการบรรลุพันธกิจ ประกอบด้วยตัววัดผลการดำเนินงาน 2 รายการได้แก่

RM 1 ร้อยละความสำเร็จของร้อยละเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในการบรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการ โดยมีเป้าหมายที่ระดับร้อยละ 80 และ

RM 2 ระดับความสำเร็จของร้อยละเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในการบรรลุเป้าหมายตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ มิติด้านประสิทธิผลการปฏิบัติราชการ โดยมีเป้าหมายท่าระดับร้อยละ 80

7.2 ผลลัพธ์ด้านการให้ความสำคัญผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วยตัววัดผลการดำเนินงาน 1 รายการ ได้แก่

RM 3 ร้อยละความพึงพอใจของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีเป้าหมายที่ระดับร้อยละ 80

7.3 ผลลัพธ์ด้านการมุ่งเน้นบุคลากร ประกอบด้วยตัววัดผลการดำเนินงาน 2 รายการ ได้แก่

RM 4 ร้อยละความสำเร็จของการดำเนินการตามแผนกลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคล โดยมีเป้าหมายที่ระดับร้อยละ 90 และ

RM 5 ร้อยละความสำเร็จของการดำเนินการตามแผนสร้างความผูกพันของบุคลากร โดยมีเป้าหมายที่ระดับร้อยละ 90

7.4 ผลลัพธ์ด้านการนำองค์การ และการกำกับดูแลส่วนราชการ ประกอบด้วยตัววัดผลการดำเนินงาน 2 รายการ ได้แก่

RM 6 ระดับคุณธรรมระดับคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงาน (ITA) ซึ่งจะพิจารณาจากผลการประเมิน ITA (Integrity and Transparency Assessment) ที่ดำเนินการโดย ปปช. หรือ ปปท. โดยส่วนราชการจะต้องได้รับผลการประเมินในระดับคะแนนที่มากกว่า 60 คะแนน ซึ่งถือเป็นระดับคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานสูง และ

RM 7 ร้อยละความพึงพอใจของบุคลากรที่มีต่อการนำองค์การของผู้บริหาร โดยส่วนราชการจะต้องมีการประเมินผู้บริหารใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย (1) การกำหนดทิศทางขององค์การ (2) การสื่อสาร และการสร้างความเข้าใจทิศทางขององค์การ (3) การสร้างบรรยากาศและการมีส่วนร่วมของผู้บริหารในกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาองค์การ (4) การให้ความสำคัญเรื่องธรรมาภิบาลขององค์การ และ(5) การเป็นตัวอย่างที่ดี (role model) ของผู้บริหาร โดยจะต้องมีผลการดำเนินงานที่เกิดจากค่าเฉลี่ยของทุกด้านและผู้บริหารทุกคน ในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80

7.5 ผลลัพธ์ด้านงบประมาณ การเงิน และการเติบโต ประกอบด้วยตัววัดผลการดำเนินงาน 1 รายการ ได้แก่

RM 8 ร้อยละการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายภาพรวม โดยจะต้องมีการเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95

7.6 ผลลัพธ์ด้านประสิทธิผลของกระบวนการ ประกอบด้วยตัววัดผลการดำเนินงาน 2 รายการ ได้แก่

RM 9 ร้อยละความสำเร็จของร้อยละเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในการบรรลุเป้าหมายตัวชี้วัดของกระบวนการที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายที่ระดับร้อยละ 80 และ

RM 10 ร้อยละความสำเร็จเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักความสำเร็จจากผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามแผนจัดการความรู้ โดยมีเป้าหมายที่ระดับร้อยละ 95

บทส่งท้าย

จบไปแล้วนะครับ สำหรับการเล่าเรื่องเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ระดับพื้นฐาน ฉบับที่ 2 นับตั้งแต่ผมเขียนตอนแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2559 จนถึงตอนสุดท้ายทั้งหมด 70 ตอน ในวันที่ 24 มีนาคม 2560 นี้

ที่ผ่านมาได้พยายามอธิบายให้เข้าใจเกณฑ์ได้ง่ายขึ้น รวมถึงการนำไปปฏิบัติ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การนำเสนอผ่านช่องทางนี้ จะช่วยให้ส่วนราชการต่างๆ ที่สนใจ และเคยมีโอกาสฟังผมบรรยาย จะได้ไว้ทบทวนเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงาน

สำหรับหน่วยงานที่ผมยังไม่เคยมีโอกาสไปบรรยาย ก็สามารถใช้ช่องทางนี้ในการบอกเล่าเรื่องราว และหวังว่าการนำเสนอตรงนี้ จะช่วยให้ท่านได้เข้าใจเพิ่มมากขึ้น หรือสามารถตอบคำถามบางคำถามที่เคยมีได้

หลังจากนี้ คงจะใช้เวลาในการเตรียมการสักระยะ เพื่อนำเสนอเรื่องราวอื่นๆ ต่อสำหรับแนวทางในการพัฒนาส่วนราชการตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) เพื่อให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อส่วนราชการเอง ต่อประชาชน และต่อประเทศชาติ

RECENT POST
bottom of page