Event Sustainability Management (1) - เมื่อโอลิมปิกพูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน
หากพูดถึงการจัดงานขนาดใหญ่ที่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการจัดงานอย่างยั่งยืน (Event Sustainability) ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง นั่นคือการจัดงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปี 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ในการจัดงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ ทางคณะกรรมการจัดงาน นอกจากจะมีการวางแผนเพื่อให้การจัดงานประสบความสำเร็จ สร้างความสุขและความทรงจำของทุกๆ คนแล้ว ในการจัดงานครั้งนี้ยังมีการวางแผนการจัดงานที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยยึดกรอบแนวทางตามมาตาฐาน BS 8901 ซึ่งเป็นมาตรฐานของประเทศอังกฤษ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Event Management) ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนามาเป็นมาตรฐาน ISO 20121 ในปี 2012 นี้เอง
การจัดงานโอลิมปิกครั้งนี้ มีการกำหนดเป้าหมายของการจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมไว้หลายๆ ประเด็น ประกอบด้วย
1. การบริหารก๊าซคาร์บอน หรือ Carbon management โดยมีเป้าหมายที่จะเป็น Low-carbon games เพื่อลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก โดยมีการวัด Carbon Footprint ที่เกิดขึ้นจากการจัดงาน เพื่อวางแผนให้เกิดน้อยที่สุด รวมถึงมีการกำหนดมาตรการในการชดเชยที่เกิดขึ้นด้วย
2. การลดความสูญเสียให้เป็นศูนย์ (Zero-waste Games) โดยเน้นให้วัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการจัดงาน จะต้องสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (Reuse) ไมว่าจะเป็นแก้วน้ำ หรือภาชนะที่ใส่อาหารที่มีจำนวนมาก โดยความร่วมมือจากร้านค้าต่างๆ ที่มาให้บริการในงาน หรือการนำขยะต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ให้เป็นขยะที่จะนำไปฝังกลบ (Landfill) เช่น การนำมาใช้ซ้ำ การนำมาใช้ในการผลิตพลังงาน การจัดการสารอันตราย
3. การบริหารการขนส่ง (Transport Solutions) มีการจัดทำแผนบริหารการเดินทาง (Travel Management) การส่งเสริมให้ใช้การขนส่งสาธารณะที่มีการเชื่อมต่อกันอย่างดี ปลอดภัย และสะดวกสำหรับคนทุกกลุ่ม การดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางด้วยจักรยาน การใช้รถในการอำนวยความสะดวกในงานที่ผ่านมาตรฐานการปล่อยไอเสีย
4. การสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (Economic Benefit) ตั้งแต่การใช้เกณฑ์ด้านความยั่งยืนมาใช้ในการคัดเลือกผู้ร่วมสนับสนุนการจัดงาน (Sponsor) การจัดซื้อจัดหาที่ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การลดต้นทุนในการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงน้ำสะอาด การสร้างงานให้กับประชาชนท้องถิ่น การนำวัสดุและเครื่องมือต่างๆ มาใช้ซ้ำหลังเสร็จสิ้นการจัดงานแล้ว
5. การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Living) รวมถึงการสื่อสารให้ผู้คนที่มาร่วมงานได้ตระหนักถึงแนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นในงาน รวมถึงการรณรงค์ให้ผู้มาชมการแข่งขันได้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การเดินทางโดยรถสาธารณะ การทานอาหารที่ใช้ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแยกขยะตามประเภทต่างๆ
6. การจัดการหลังเสร็จงาน (Legacy) มีการวางแผนการใช้สนามกีฬา และสิ่งก่อสร้างต่างๆ หลังจากการจัดงานให้เกิดประโยชน์ต่อเนื่อง โดยสนามกีฬา Olympic Park ได้เปลี่ยนมาเป็น Queen Elizabeth Olympic Park เพื่อเป็นพื้นที่สีเขียว และสถานที่พักผ่อนของชาวลอนดอน บริหารจัดการโดย London Legacy Development Corporation โดยจะมีการปรับปรุงสถานที่บางส่วน ภายใต้การจัดการอย่างยั่งยืนด้วย เช่น การใช้วัสดุที่สามารถใช้ซ้ำที่มาจากการรื้อสนามชั่วคราวได้ นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดแนวทางของการจัดงานยั่งยืนสำหรับการจัดงานใน Queen Elizabeth Olympic Park ที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วย
นอกจากนั้น ในการจัดงานครั้งนี้ เมื่อเสร็จงานแล้วยังมีการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ตามแนวทางของ GRI (Global Reporting Initiatives) อีกด้วย เพื่อนำเสนอถึงแนวทาง และมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการในการจัดงานโอลิมปิกนี้ รวมถึงการวัดผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ทั้งด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม เหมือนกับองค์กรชั้นนำต่างๆ ในปัจจุบันที่จะมีการจัดทำรายงานความยั่งยืน หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมในทุกปี
ในตอนต่อไปจะพูดถึงว่าแล้วทำไมการจัดงาน Event ถุึงต้องสนใจเรื่องของความยั่งยืน