top of page

PMQA ระดับพื้นฐาน (FL) ฉบับที่ 2 ตอนที่ 3

กิตติพัทธ์ จิรวัสวงศ์

คุณค่าหลัก 11 ประการของ PMQA

คุณค่าหลัก หรือ Core Value จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญขององค์กรที่การบริหารจัดการจนมีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศและยั่งยืน จะมีทั้งหมด 11 ข้อ ประกอบด้วย

1) การนำองค์กรอย่างมีวิสัยทัศน์

การกำหนดทิศทางขององค์กรผ่าน วิสัยทัศน์และค่านิยม การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ระบบงาน และกระบวนการทำงานต่างๆ การจัดทำระบบการติดตามและทบทวนผลการดำเนินงาน การส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลที่ดี และการเสริมสร้างจริยธรรมในการปฏิบัติงาน การส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่สนับสนุนการปฏิบัติงาน การสร้างนวัตกรรมและสร้างการเรียนรู้ให้เกิดกับบุคลากร นอกจากนั้นผู้บริหารยังมีบทบาทในการร่วมวางแผน สื่อสาร สอนงาน และพัฒนาผู้นำในอนาคต รวมถึงการปฏิบัติตนเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีทั้งกับบุคลากรในองค์กร รวมถึงผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชน

2) ความเป็นเลิศที่มุ่งเน้นผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชน

ส่วนราชการที่ประสบความสำเร็จ จะสามารถสร้างความพึงพอใจและความผูกพันให้เกิดกับผู้รับบริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยการมุ่งตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนั้น ทุกส่วนราชการจะต้องพิจารณาและให้ความสำคัญไปถึงประชาชนด้วย ไม่จำกัดตัวเองเฉพาะผู้รับบริการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถึงแม้ว่าหน่วยงานราชการนั้นจะไม่ได้ให้บริการกับประชาชนโดยตรงก็ตาม แต่ก็ต้องคำนึงถึงว่าการทำงานของส่วนราชการนั้น จะส่งผลไปถึงประชาชนอย่างไร และจะสร้างประโยชน์สุขให้เกิดกับประชาชนอย่างไร

3) การเรียนรู้ขององค์การและระดับบุคคล

ส่วนราชการต้องมีแนวทางอย่างเป็นระบบในการสร้างให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในระดับองค์การและระดับบุคคล การเรียนรู้ระดับองค์การ จะเป็นความสามารถขององค์การที่เพิ่มมากขึ้นจากการปฏิบัติงาน การปรับปรุงงาน รวมถึงจากการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีการเรียนรู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยความสำเร็จ และความผิดพลาด เพื่อนำมาสู่การกำหนดมาตรการให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นส่วนราชการยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรของตนเองให้มีความสามารถที่เพิ่มมากขึ้น สร้างให้เกิดการเรียนรู้ระดับบุคคลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การปฏิบัติงานสามารถบรรลุตามเป้าหมาย สร้างความผูกพัน และเป็นการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับส่วนราชการในอนาคต

4) การให้ความสำคัญกับบุคลากรและเครือข่าย

นอกจากการพัฒนาบุคลากรให้มีขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นแล้ว ส่วนราชการยังต้องให้ความสำคัญกับการดูแลให้บุคลากรมีความผูกพัน มีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของส่วนราชการด้วย เพราะถ้าหากมีความสามารถ แต่ขาดความผูกพันก็ไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์ได้ ดังนั้น ส่วนราชการต้องพิจารณาว่าปัจจัยอะไรที่จะช่วยสร้างให้บุคลากรเกิดความผูกพัน และส่งเสริมปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้วยข้อจำกัดทางด้านทรัพยากร ดังนั้นความสำเร็จของส่วนราชการ จึงขึ้นอยู่กับการสร้างเครือข่ายการทำงานที่มีประสิทธิภาพด้วย เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของส่วนราชการให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายได้ โดยส่วนราชการจะต้องมีการคัดเลือกเครือข่าย มีการวางแผนการทำงานร่วมกัน รวมถึงให้การสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ เพื่อช่วยการทำงานของเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

5) ความสามารถในการปรับตัว

ส่วนราชการจะต้องมีการวางแผน และเตรียมความพร้อม เพื่อให้มีความสามารถในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง และคาดไม่ถึงมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ อาจส่งผลกระทบได้ทั้งในทางบวก และในทางลบ ดังนั้น ส่วนราชการจะต้องมีความคล่องตัวอย่างมากที่จะใช้ให้เป็นโอกาสในกรณีที่ส่งผลในทางบวก และป้องกันความเสียในกรณีที่ส่งผลทางลบ การสร้างความสามารถในการปรับตัว มีตั้งแต่การคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น การเตรียมบุคลากรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง การออกแบบระบบงานและกระบวนการทำงานที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว การจัดเตรียมอุปกรณ์และโครงสร้างต่างๆ ที่มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนตามความจำเป็น

6) การมุ่งเน้นอนาคต

การให้ความสำคัญกับทิศทางของส่วนราชการที่จะมุ่งไป การคาดการณ์ถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การวางแผนรองรับทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การมุ่งเน้นอนาคต ยังครอบคลุมไปถึงการเตรียมการในส่วนราชการ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์และทิศทางของส่วนราชการในอนาคตด้วย เช่น การพัฒนาบุคลากร การลงทุนในด้านต่างๆ การเตรียมผู้นำในอนาคต การสร้างโอกาสทางนวัตกรรม การพัฒนาขีดความสามารถของเครือข่ายและยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ยังรวมไปถึงการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงความต้องการและคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญที่มีต่อส่วนราชการด้วย

7) การสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม

ส่วนราชการจะต้องมีการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมขึ้น เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติงานแบบก้าวกระโดด สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การส่งเสริมจะมีตั้งแต่การสร้างสภาพแวดล้อมในส่วนราชการที่สนับสนุนให้เกิดความคิดใหม่ๆ หรือโอกาสใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับส่วนราชการ รวมถึงการมีกระบวนการจัดการนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ที่จะนำความคิดหรือโอกาสใหม่ๆ นั้นไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์จริงกับส่วนราชการ

8) การจัดการโดยใช้ข้อมูลจริง

ในการบริหารจัดการและการตัดสินใจของส่วนราชการจะต้องอยู่บนการเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ และเชื่อถือได้ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับส่วนราชการ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ส่วนราชการจะต้องมีการจัดการข้อมูลและสารสนเทศอย่างมีประสิทธิผล ตั้งแต่การรวบรวม การวิเคราะห์ การทบทวน และการเปรียบเทียบ เพื่อนำผลที่ได้ไปใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์ การปรับปรุงกระบวนการทำงาน การคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคต การยกระดับคุณภาพของการบริการ การบริหารการเปลี่ยนแปลง และการสร้างนวัตกรรมต่อไป

9) ความรับผิดชอบต่อสังคม

ถึงแม้ว่าโดยภารกิจของส่วนราชการส่วนใหญ่ จะเป็นการมุ่งเน้นเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วก็ตาม แต่ประเด็นที่สำคัญอย่างมากสำหรับส่วนราชการ นั่นคือการจัดการผลกระทบทางลบต่อสังคมที่เป็นผลมาจากการปฏิบัติงาน และการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของส่วนราชการ ซึ่งหากพบว่ามีโอกาสที่จะส่งผลกระทบ ส่วนราชการจะต้องมีการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อเป็นการป้องกัน บรรเทา เยียวยาฟื้นฟูและทำความเข้าใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย

นอกจากนั้นส่วนราชการยังต้องให้ความสำคัญกับการประพฤติปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมกับภาคส่วนต่างๆ ด้วย มีความรับผิดชอบต่อความกังวลสาธารณะที่อาจมีกับการปฏิบัติงานของส่วนราชการ รวมถึงการสร้างความผาสุกให้กับสังคม และการสนับสนุนให้ชุมชนที่สำคัญของส่วนราชการมีความเข้มแข็งขึ้น

10) การมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์และการสร้างคุณค่า

การบริหารจัดการของส่วนราชการ จะมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ที่สำคัญที่สะท้อนถึงความสำเร็จของส่วนราชการในด้านต่างๆ รวมถึงสร้างคุณค่าและความสมดุลให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในทุกๆ กลุ่มด้วย ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรภายในส่วนราชการ ผู้รับบริการ ผู้ส่งมอบ คู่ความร่วมมือ ส่วนราชการต่างๆ สาธารณะ ชุมชน รวมไปถึงประชาชน

11) มุมมองในเชิงระบบ

การทำงานของกระบวนการต่างๆ ในส่วนราชการจะต้องมีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ มีการทำงานและเป้าหมายของการดำเนินงานที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน และบูรณาการกัน เพื่อนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศของส่วนราชการ

RECENT POST
bottom of page